ใช้โทรศัพท์มือถือขณะฝนตกเสี่ยงฟ้าผ่าหรือไม่ ?

: 27 เม.ย. 2568, 11:15 : 311

หลายคนคงเคยได้ยินมาว่าการใช้โทรศัพท์มือถือขณะฝนตกแล้วจะเสี่ยงฟ้าผ่า ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีผู้คนที่เสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า และผู้เสียชีวิตนั้นมักจะพกโทรศัพท์มือถือติดตัวอยู่เสมอ ทำให้หลายคนเกิดการตั้งข้อสงสัยและมีความคิดว่า โทรศัพท์มือถือเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดฟ้าผ่าลงมา โดยมีสัญญาณโทรศัพท์เป็นตัวล่อฟ้านั่นเอง จึงเกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าใช้โทรศัพท์ขณะฝนตก ฟ้าร้อง (ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://mobile.kapook.com/ )

.

จากการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ  สุวรรณทา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ข้อมูลว่า “โทรศัพท์มือถือมีความเข้มข้นของสัญญาณต่ำ และหากสนามแม่เหล็กในคลื่นโทรศัพท์มือถือสูงก็สามารถทำให้เกิดอันตรายกับคนได้โดยที่ไม่ต้องโดนฟ้าผ่าเพราะโทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ฟ้าผ่า ต่อให้เราไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ แล้วไปยืนกลางแจ้งขณะฝนฟ้าคะนองก็มีโอกาสที่จะโดนฟ้าผ่าได้เช่นกัน”

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “กรณีที่ใช้โทรศัพท์มือถือในอาคารหรือที่ร่มถือว่าปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงถ้าหากเสียบสายชาร์จโทรศัพท์มือถือขณะฝนตก ฟ้าจะไม่ได้ผ่าโทรศัพท์โดยตรง แต่จะผ่ามาตามสายไฟที่เป็นสายทองแดงและทำให้เกิดไฟดูดได้ก็ถือว่าเป็นอันตรายเช่นกัน”  (ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567)

จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ทั้งสัญญาณโทรศัพท์และตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เป็นตัวล่อฟ้าผ่า เนื่องจากโลหะและโทรศัพท์มือถือ ไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้า เพราะโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน ส่วนวัตถุที่เป็นตัวทำให้ฟ้าผ่าใส่มนุษย์ได้มากที่สุด คือ วัตถุที่อยู่สูงเหนือจากศีรษะมนุษย์ขึ้นไป โดยเฉพาะสิ่งของที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ด้านปลายบนสุดเป็นเหล็กแหลม เป็นต้น (ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.sanook.com/campus/1416199/)

.

ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า ใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งขณะฝนตกเสี่ยงฟ้าผ่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ในบางกรณี เช่น การชาร์จมือถือไว้ขณะฝนตกอาจทำให้เกิดฟ้าผ่าลงมาตามสายไฟได้ เป็นต้น

 

หมวดหมู่ : ให้ความรู้

Tags :